Schedule: เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
076 298 298, 076 609 050
ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ

ออฟฟิศซินโดรม...รักษาและฟื้นฟูได้ด้วยการกายภาพบำบัด

ออฟฟิศซินโดรม…รักษาและฟื้นฟูได้ด้วยการกายภาพบำบัด

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คืออะไร

จัดอยู่ในกลุ่มโรคอาการปวดกล้ามเนื้อ และพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำไปซ้ำมา ในระยะเวลาที่นาน และต่อเนื่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดนั้นมีการอักเสบ ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีอาการปวดเมื่อย เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง แขน หรือข้อมือ ซึ่งหากพบว่ามีอาการดังกล่าว แต่ปล่อยทิ้ง อาจส่งผลให้อาการทรุดหนักลง และลุกลามจนเป็นเรื้อรัง

สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม

มีหลายสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคนี้ แต่หลัก ๆ ที่ส่งผลให้เกิดก็คือ พฤติกรรมการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลานาน และไม่ได้ขยับหรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ในท่าเดิมตลอดทั้งวัน จนกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ เกิดการยึดเกร็ง และอักเสบ รวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมต่อโครงสร้างของร่างกาย เช่น โต๊ะวางคอมพิวเตอร์อยู่สูงหรือต่ำจนเกินไป ทำให้หน้าจอไม่อยู่ในระดับของสายตา และทั้งนี้อาจเกิดจากความเครียดของการทำงาน ที่นอนไม่ได้มาตรฐาน การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ  ก็สามารถเป็นสาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน

อาการแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างชัดเจน ตรงบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง และสะโพก
  2. อาการปวดวิงเวียนศีรษะเรื้อรัง หรือบางคนอาจมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย เกิดจากความเครียด และการใช้สายตาจดจ่อหน้าจอมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน
  3. ปวดหลัง เนื่องจากการนั่งทำงานนาน ๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือวิธีการนั่งที่ไม่ถูกสรีระ เช่นนั่งหลังค่อม ส่งผลให้กล้ามเนื้อต้นคอเมื่อยล้า และยึดเกร็ง
  4. อาการปวดหรือเกิดเหน็บชาบริเวณขาลงมาซึ่งสาเหตุมาจากการนั่งในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและการไหลเวียนของเลือดมีความผิดปกติ
  5. อาการตาแห้ง ตาพร่ามัว มักเกิดจากการใช้งานสายตามากเกินไป
  6. อาการมือชา นิ้วล็อค และปวดข้อมือโดยสาเหตุมาจากการจับเมาส์ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณมือหรือนิ้วมือ (De Quervain’s disease) อักเสบได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการมือชา จากภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทมีเดียนได้อีกด้วย (CTS / Carpal Tunnel Syndrome)

แนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรม

การรักษาออฟฟิศซินโดรมสามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มจากวิธีที่ง่ายคือปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน ร่วมกับรับประทานยา แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การรักษาทางกายภาพบำบัด การออกกำลังกายกายยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี การฝังเข็ม การรักษาทางแพทย์แผนไทย ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือท่าทางการทำงาน ก็ยังสามารถใช้เพื่อลดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย

แนวทางการป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

  1. ออกกำลังกายด้วยท่าทางที่เหมาะสมกับอาการ
  2. ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน และปรับสรีระให้เหมาะสม
  3. ขยับร่างกายทุกครึ่งชั่วโมง
  4. ไม่จ้องหน้าจอนาน ๆ

กายภาพบำบัดรักษาได้อย่างไรบ้าง

แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การทำกายภาพบำบัด ลดอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเอ็นกล้ามเนื้อด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้มือดัดดึง/นวด (mobilization/massage) การกดตรงจุดกล้ามเนื้อ (trigger point) ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด  โดยใช้คลื่นเหนือเสียง (ultrsound) การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (electrical stimulation) การประคบความร้อน  บางรายต้องได้รับการดึงคอ/ดึงหลัง (traction)  ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การเลือกใช้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับตามความเหมาะสม และการวินิจฉัยโรคจากดุลพินิจของนักกายภาพบำบัด

ดูแลตัวเองหลังฟื้นฟูทำกายภาพบำบัด

หลังจากที่ทำการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัดและรักษาจนกระทั่งอาการดีขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือความรู้ความเข้าใจในการปฎิบัติตัวเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นซ้ำอีก โดยนักกายภาพบำบัดจะให้ความรู้พร้อมคำแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปฝึกปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดซ้ำ เพราะการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริหารกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่น/แข็งแรง และการปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้องด้วย

แผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลดีบุก ชั้น6
เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

ทุกปัญหาด้านสุขภาพเราช่วยคุณได้...กรุณาอย่าลังเลที่จะปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของเรา